8/04/2552

สัปดาห์ที่10 บันทึกแนวคิดการสื่อสาร

MC 111 สรุปทฤษฎีการสื่อสาร
บทที่ 1การสื่อสาร
คำนำ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาแล้วมนุษย์จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการสื่อสารตั้งแต่เกิดจนตาย ในสมัยก่อนการติดต่อสื่อสารจะใช้อาณัติสัญญาณต่างๆ อาทิเช่น เสียงกลอง ควันไฟ ฯลฯ ต่อมาการติดต่อสื่อสารได้เปลี่ยนเป็นการเขียนภาพไว้ตามผนังถ้ำ เช่น ภาพครอบครัว ภาพการล่าสัตว์ แล้วพัฒนาต่อไปเป็นการประดิษฐ์ ตัวอักษรขึ้นมาใช้ การติดต่อสื่อสารหรือสื่อความหมายก็ใช้ในลักษณะการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งลักษณะหลังนี้ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่ได้รับการพัฒนาอย่างมาก จึงทำให้การติดต่อสื่อสารของมนุษย์เป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว กว้างขวาง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนถึงขั้นที่อาจจะกล่าวได้ว่า สังคมเราทุกวันนี้เป็นสังคมของข้อมูลข่าวสาร (Information Society) นั่นก็คือ ข่าวสารต่างๆ เข้ามามีส่วนสำคัญหรือมีบทบาทในการดำรงชีวิตของมนุษย์เกือบทุกรูปแบบนั่นเองในวันหนึ่งๆ จะมีการสื่อสารเกิดขึ้นมาเกือบทุกรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การสื่อสารภายในตัวบุคคลจะเกิดขึ้นเมื่อเรานอนหลับแล้วฝันหรือละเมอ การสื่อสารระหว่างบุคคลจะเกิดขึ้นเมื่อเราพูดคุยกับคนใดคนหนึ่ง การสื่อสารมวลชนจะเกิดขึ้นเมื่อเราอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือการสื่อสารกลุ่มใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อเราฟังบรรยายในห้องเรียน เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน จะต้องพบกับกระบวนการสื่อสารเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรือสถานภาพแบบใดก็ตาม เพราะฉะนั้น ตราบใดก็ตามที่มนุษย์จำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การติดต่อสื่อสารย่อมต้องมีความจำเป็นอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นระเบียบในการอยู่ร่วมกัน สร้างความเข้าใจ ความช่วยเหลือ และความสามัคคี เป็นต้น
โดยทั่วไปภาษาที่มนุษย์ใช้ในการสื่อสารจะมี 2 ประเภท คือ
1. ภาษาที่ใช้คำพูดหรือวัจนภาษา เช่น ภาษาพูด หรือภาษาเขียน
2. ภาษาที่ไม่ใช้คำพูดหรืออวัจนภาษา เช่น สัญลักษณ์ สัญญาณ หรืออากัปกิริยาต่างๆ เช่น การยิ้ม การขมวดคิ้ว การโบกมือ การหาว การส่งเสียงโห่ร้อง เป็นต้น
ในหลักการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเชิงวัจนภาษาหรือเชิงอวัจนภาษาก็ตาม การสื่อสารจะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อ การสื่อสารนั้นเป็นที่เข้าใจระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารเป็นสำคัญ
ความหมาย
"การสื่อสาร" ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า "Communication" ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กัน ดังนี้
- จอร์จ เอ มิลเลอร์ (George A. Miller) กล่าวว่า "การสื่อสาร หมายถึง การถ่ายทอดข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง"
- คาร์ล ไอ โฮฟแลนด์ (Carl I. Hoveland) และคณะให้ความเห็นว่า "การสื่อสาร คือ กระบวนการที่บุคคลหนึ่ง (ผู้ส่งสาร) ส่งสิ่งเร้า (ภาษาพูดหรือ ภาษาเขียน) เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลอื่นๆ (ผู้รับสาร)"
- วอร์เรน ดับเบิลยู วีเวอร์ (Warren W. Weaver) ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการสื่อสารว่า "การสื่อสารมีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงกระบวนการทุกอย่างที่จิตใจของคนๆ หนึ่งอาจมีผลต่อจิตใจของคนอีกคนหนึ่ง การสื่อสารจึงไม่หมายความแต่เพียงการเขียนและการพูดเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงดนตรี ภาพ การแสดง บัลเล่ต์ และพฤติกรรมทุกพฤติกรรมของมนุษย์อีกด้วย
- เจอร์เกน รอยซ์ และ เกรกอรี เบทสัน (Jurgen Ruesch and Gregory Bateson) ให้ความเห็นว่า "การสื่อสารไม่ได้หมายถึงการถ่ายทอดสารด้วยภาษาพูด ภาษาเขียนที่ชัดแจ้ง และแสดงเจตนารมณ์เท่านั้น แต่การสื่อสารยังรวมไปถึงกระบวนการทั้งหลายที่คนมีอิทธิพลต่อกันด้วย"
- วิลเบอร์ ชแรมม์ (Wilbur Schramm) กล่าวว่า "การสื่อสาร คือ การมีความเข้าใจร่วมกันต่อเครื่องหมายที่แสดงข่าวสาร (Information Signs)"
- ชาร์ลส์ อี ออสกูด (Charles E. Osgood) กล่าวว่า "ความหมายโดยทั่วไป การสื่อสารจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งคือผู้ส่งสารมีอิทธิพลต่ออีกฝ่ายหนึ่งคือผู้รับสาร โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งถูกส่งผ่านสื่อที่เชื่อมระหว่างสองฝ่าย"
- เอเวอเรตต์ เอ็ม โรเจอร์ส และ เอฟ ฟลอยด์ ชูเมคเกอร์ (Everett M. Rogers and F. Floyd Shoemaker) ให้ความหมายว่า "การสื่อสาร คือ กระบวนการซึ่งสารถูกส่งจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร"
- จอร์จ เกิร์บเนอร์ กล่าวว่า "การสื่อสาร คือ กระบวนการที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีปฏิสัมพันธ์กันในสภาพแวดล้อมทางสังคมเฉพาะ
" โดยสรุป "การสื่อสาร คือ กระบวนการของการถ่ายทอดข่าวสาร (Message) จากบุคคลฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้ส่งสาร (Source) ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า ผู้รับสาร (Receiver) โดยผ่านสื่อ (Channel)" การสื่อสารระหว่างมนุษย์นอกจากจะเป็นเพียงการส่งสารเพื่อก่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของผู้ส่งสารแล้ว ยังหมายความรวมไปถึง การรับสาร ปฏิกิริยาตอบกลับ (Feedback) และอันตรกิริยาด้วย อันตรกิริยาหรือ Interaction ก็คือ ปฏิกิริยาที่มีต่อกันระหว่างผู้สื่อสารทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้ส่งสารกับฝ่ายผู้รับสาร ซึ่งปฏิกิริยาที่มีต่อกันนี้จะเป็นตัวนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องของความหมาย (Meaning) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายๆ อย่าง ดังนั้นการสื่อสารในความหมายนี้ก็คือ การสื่อสารแบบ 2 ทาง หรือ กระบวนการ
2 วิถี (Two - way Communication)การสื่อสารแบบ 2 ทาง หากเรานำไปเปรียบเทียบกับวงจรความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารแล้ว วงจรที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบ 2 วงจร กล่าวคือ มีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนความหมายที่มีอยู่ในสมองของบุคคล 2 คน แต่วงจรอันนี้อาจจะเกิดขึ้นเพียงวงจรเดียวก็ได้ ถ้าหากว่าผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีความสนิทสนมกันมากๆ จนถึงขั้นที่มองตาก็รู้ใจแล้ว เวลาทำการสื่อสารวงจรของการแลกเปลี่ยนความหมายที่มีอยู่ในสมอง อาจจะเกิดขึ้นเพียงวงจรเดียว ตัวอย่างเช่น สามีพูดกับภรรยาว่า "วันนี้ออกไปกินข้าวนอกบ้านกันเถอะ" ภรรยาก็รู้ทันทีว่าสิ่งที่สามีพูดหมายถึงอะไรโดยไม่ต้องถามต่อ แต่ว่าอาจจะใช้อากัปกิริยาตอบกลับ เช่น ส่งสายตาในทำนองดีใจ และขอบคุณ หรือหอมแก้มสามี 1 ฟอด แสดงความขอบคุณ วงจรที่เกิดขึ้นจะมีแค่วงจรเดียว (วงจรของสามี) ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าภรรยาตอบกลับไปด้วยคำพูดว่า "เนื่องจากโอกาสพิเศษอะไรหรือพี่" สามีตอบกลับว่า "วันนี้พี่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ เราไปฉลองกันเถอะ" วงจรที่เกิดขึ้นจะกลายเป็น 2 วงจร จะถือว่ามีการสื่อสารเกิดขึ้นแล้วฉะนั้น การสื่อสารแบบวงจรเดียวจะไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับหรือ Interaction จึงเข้าข่ายความหมายโดยทั่วๆ ไปที่บอกว่า "การสื่อสาร คือ การถ่ายทอดข่าวสารจากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง"
ความสำคัญ
หากพิจารณาถึงความสำคัญของการสื่อสารที่มีต่อมนุษย์แล้วสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประการ คือ
1. ความสำคัญต่อความเป็นสังคม การที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมได้ จำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเป็นพื้นฐาน เพราะการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจ และทำความตกลงกันได้ มีการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างระเบียบของสังคมให้เป็นที่ยอมรับระหว่างสมาชิก ทั้งนี้เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขเป็นสังคม
2. ความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าตลอดเวลาที่เราตื่น เราจะทำการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งเวลาเราหลับอยู่ หากเราฝันหรือละเมอเรื่องใดก็ตาม นั่นก็ถือว่าเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง คือ การสื่อสารภายในตัวบุคคล (Intrapersonal Communication)
3. ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจปัจจุบันวงการอุตสาหกรรมมีการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานทำให้ต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะโรงงานอุตสาหกรรมถือเป็นองค์กรหรือสถาบันหนึ่งที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประชาชน โดยการสื่อสารที่นำมาใช้สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกองค์กร (ผู้บริโภค, ชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ฯลฯ) ก็คือ "การประชาสัมพันธ์" ถือเป็นการสื่อสารที่ช่วยในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับองค์กร ลดปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบประชามติ หรือความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มีต่อองค์กรได้อีกด้วย
4. ความสำคัญต่อการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในรูปแบบใดก็ตาม ย่อมจะต้องประกอบไปด้วยผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองหรือประชาชน ดังนั้นการปกครองจะเป็นไปอย่างราบรื่น หรือเป็นไปในทางที่ดีได้ ทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองจะต้องอาศัยการสื่อสารเข้ามาเป็นตัวช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในระบอบประชาธิปไตย การสื่อสารจะเป็นตัวสะท้อนให้ผู้ปกครองทราบว่าผู้ถูกปกครองต้องการอะไร อยากให้ผู้ปกครองทำอะไร นั่นคือความสำคัญต่อการปกครอง
5. ความสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศ ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยกระทรวงการต่างประเทศ และสถานทูตต่างๆ เข้ามารับผิดชอบทางด้านการสื่อสารโดยตรง เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศของตน สร้างความเข้าใจอันดีกับประเทศอื่น ตลอดจนชักจูงใจให้ได้รับความสนับสนุนจากประเทศอื่น และยังสามารถศึกษาถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในประเทศนั้นที่มีต่อประเทศของตนได้อีกด้วย ทั้งนี้โดยอาศัยสื่อชนิดต่างๆ เช่น สถานีวิทยุ VOA หรือ Voice of America ของสหรัฐอเมริกา หรือ สถานีวิทยุ BBC ของประเทศอังกฤษ เป็นต้น
+ วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร
ในกระบวนการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารในระดับใดก็ตาม ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันก็ได้ เพราะฉะนั้นในการศึกษาเรื่องวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร เราจึงสามารถแยกออกได้เป็นวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสารกับวัตถุประสงค์ของผู้รับสาร ถ้าวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ฝ่ายเหมือนกัน หรือสอดคล้องกับผลของการสื่อสารในครั้งนั้นๆ จะสัมฤทธิ์ผลได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามถ้าวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ตรงกัน ผู้รับสารอาจมีปฏิกิริยาต่อสารผิดไปจากความตั้งใจของผู้ส่งสารได้ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารไม่บรรลุตามเป้าหมาย หรือตามเจตนารมณ์ของผู้ส่งสาร ทำให้การสื่อสารในครั้งนั้นๆ เกิดความล้มเหลว (Communication Breakdown)โดยปกติแล้วสามารถจะสรุปได้ว่าผู้ส่งสารและผู้รับสารมีวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร ดังต่อไปนี้
วัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร
ในการทำการสื่อสารแต่ละครั้ง ผู้ส่งสารจะมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อแจ้งให้ทราบ (Inform) หมายความว่า ในการทำการสื่อสารนั้นผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะบอกกล่าวหรือชี้แจงข่าวสาร เรื่องราว เหตุการณ์ ข้อมูล หรือสิ่งอื่นใดให้ผู้รับสารได้รับสาร หรือเกิดความเข้าใจโดยอาจผ่านทางสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งลงตีพิมพ์ข่าวสารเพื่อรายงานข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นประจำวันไปให้ประชาชนได้รับทราบ เป็นต้น
2. เพื่อสอนหรือให้การศึกษา (Teach or Educate) หมายความว่า ผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะสอนวิชาความรู้ หรือเรื่องราวที่เป็นวิชาการให้ผู้รับสารได้รับความรู้เพิ่มเติมจากเดิม เช่น วารสารเพื่อสุขภาพอนามัยก็จะมีการลงตีพิมพ์บทความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ อาการที่เกิดขึ้นหรือวิธีการป้องกัน เป็นต้น
3. เพื่อสร้างความพอใจ หรือให้ความบันเทิง (Please or Entertain) หมายความว่า ในการสื่อสารนั้น ผู้ส่งสารมีความต้องการที่จะทำให้ผู้รับสารเกิดความรื่นเริงบันเทิงใจจากสารที่ตนเองส่งออกไป ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการพูด การเขียน หรือการแสดงกิริยาท่าทาง ตัวอย่างเช่น นวนิยาย เพลง ละคร เกมโชว์ การแสดงคอนเสิร์ต เป็นต้น
4. เพื่อเสนอแนะหรือชักจูงใจ (Propose or Persuade) หมายความว่า ผู้ส่งสารได้เสนอแนะสิ่งใดสิ่งหนึ่งต่อผู้รับสาร และมีความต้องการชักจูงให้ผู้รับสารมีความคิดคล้อยตาม หรือยอมรับปฏิบัติตามการเสนอแนะของตน ตัวอย่างเช่น การโฆษณาสินค้าทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือทางโทรทัศน์ เป็นต้นส่วนใหญ่แล้วในกระบวนการสื่อสารมวลชนเราจะเห็นได้ว่า ผู้ส่งสารหรือตัวองค์กรสื่อต่างก็ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ครบทั้ง 4 อย่างข้างต้น
วัตถุประสงค์ของผู้รับสาร
โดยทั่วไปผู้รับสารจะมีวัตถุประสงค์หลักๆ ในการทำการสื่อสาร ดังนี้
1. เพื่อทราบ (Understand) ในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการสื่อสารนั้น ผู้รับสารมีความต้องการที่จะทราบเรื่องราว ข้อมูล ข่าวสาร เหตุการณ์ หรือสิ่งอื่นๆ ที่มีผู้แจ้ง หรือรายงาน หรือชี้แจงให้ทราบ
2. เพื่อเรียนรู้ (Learn) หมายถึง การแสวงหาความรู้ของผู้รับสารจากสารที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับวิชาความรู้ และวิชาการ อันเป็นการหาความรู้เพิ่มเติม และเป็นการทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระในการสอนของผู้ส่งสาร
3. เพื่อความพอใจ (Enjoy) โดยปกติคนเรานั้น นอกจากจะต้องทราบข่าวคราว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และต้องการศึกษาเพื่อหาความรู้แล้ว ยังมีความต้องการในเรื่องความบันเทิงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจด้วย เช่น ผู้รับสารอาจจะทำการสื่อสารด้วยการฟังเพลง ฟังละครวิทยุ อ่านหนังสือพิมพ์หน้าบันเทิง ชมรายการโทรทัศน์ หรือเกมโชว์ เป็นต้น
4. เพื่อกระทำ หรือตัดสินใจ (Dispose or Decide) หมายถึงว่า ในการตัดสินใจของคนนั้น มักจะได้รับการเสนอแนะ หรือชักจูงใจให้กระทำอย่างนั้น อย่างนี้ จากบุคคลอื่นอยู่เสมอ ดังนั้นทางเลือกในการตัดสินใจของคนเรานี้จึงขึ้นอยู่กับข้อเสนอแนะนั้นๆ ว่าจะมีความน่าเชื่อถือ และมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด นอกเหนือจากนี้แล้ว การตัดสินใจของคนเรายังต้องคำนึงถึง การรับข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ และความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ได้สั่งสมกันมาด้วย

1 ความคิดเห็น: